การตัดสินใจเลือกการออกแบบที่เจาะจงและแบบกว้างๆ ที่ใช้ทั่วทั้งแอปอาจส่งผลต่อประสบการณ์ที่ดีของผู้ใช้ได้ ใช้หลักการเหล่านี้เพื่อออกแบบแอปที่รองรับความต้องการของผู้ใช้
21. พูดภาษาเดียวกับผู้ใช้
การใช้คำหรือวลีที่ไม่เป็นที่รู้จักอาจเพิ่มความยากลำบากให้แก่ผู้ใช้ ผู้ใช้อาจสับสนได้หากคุณเลือกคำกระตุ้นการตัดสินใจที่เป็นคำเฉพาะของแบรนด์ คุณควรให้ความสำคัญกับการสื่อสารและฟังก์ชันที่ชัดเจนมากกว่าการโปรโมตข้อความของแบรนด์
22. แสดงป้ายกำกับข้อความและคำอธิบายภาพในการแสดงไอคอน
ภาพประกอบและไอคอนต้องมีป้ายกำกับเพื่อให้ผู้ใช้เข้าใจตรงกัน ในการศึกษาของเราพบว่าไอคอนสำหรับเมนู รถเข็นช็อปปิ้ง บัญชี เครื่องระบุตำแหน่งร้าน รวมทั้งการดำเนินการต่างๆ เช่น การกรองหรือการจัดเรียง มักจะใช้ต่างกันและไม่สอดคล้องกันในแอปต่างๆ คุณควรใช้ไอคอนที่มีป้ายกำกับจะดีกว่า นอกจากนี้ แอปที่มีการจัดหมวดหมู่ด้วยภาพแต่ไม่มีคำอธิบายประกอบอาจทำให้ผู้ใช้ไม่ทราบว่าภาพนั้นต้องการสื่อถึงอะไร อย่าลืมใส่คำอธิบายประกอบลงไปเพื่อลดความสับสนและทำให้ผู้ใช้ทำงานต่อไปได้
23. ตอบผู้ใช้ด้วยภาพหลังจากมีการดำเนินการสำคัญ
เมื่อผู้ใช้เพิ่มสินค้าลงในรถเข็นช็อปปิ้งหรือส่งคำสั่งซื้อ การไม่แสดงข้อความตอบกลับอาจทำให้ผู้ใช้สงสัยว่าการดำเนินการนั้นได้รับการประมวลผลแล้วหรือยัง แอปที่แสดงการตอบกลับด้วยภาพเคลื่อนไหวหรือภาพประเภทอื่นๆ จะช่วยให้ผู้ใช้มั่นใจขึ้น
24. ให้ผู้ใช้ควบคุมระดับการซูมได้
ผู้ใช้อยากซูมภาพเข้าออกได้ดังใจในขณะดู และอาจหงุดหงิดกับแอปที่ต้องซูมตามระยะที่บังคับไว้ โดยเฉพาะในกรณีที่การซูมนั้นทำให้ผู้ใช้เห็นเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของสินค้าหรือทำให้ภาพตกขอบจอ ดังนั้น จึงควรให้ผู้ใช้ควบคุมระดับการซูมได้เองตามต้องการ
25. ขอสิทธิ์ในบริบทที่เกี่ยวข้อง
ผู้ใช้อาจดำเนินการบางอย่างติดขัดเมื่อปฏิเสธการให้สิทธิ์ที่แอปจำเป็นต้องใช้ในการทำงานตามปกติ เพื่อขจัดปัญหานี้ แอปควรขอสิทธิ์ในบริบทที่เกี่ยวข้องและบอกให้ผู้ใช้ทราบว่าสิทธิ์นั้นมีประโยชน์อย่างไร ผู้ใช้มักจะอนุญาตให้แอปเข้าถึงข้อมูลได้มากกว่า หากขอในงานที่เกี่ยวข้อง