Google และTemasek ได้ทำการวิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่อง หลังจากเปิดตัวการวิจัยเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2559 โดยในปีนี้ Bain & Company ได้เข้ามามีส่วนร่วมวิจัยกับเราในฐานะพันธมิตรวิจัยหลัก นอกจากการติดตามการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคนี้ การวิจัยในปีนี้ยังครอบคลุมกลุ่มธุรกิจเพิ่มเติม ได้แก่ ธุรกิจบริการทางการเงินแบบดิจิทัล (Digital Financial Services) และเจาะลึกในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ สื่อออนไลน์ บริการเรียกรถออนไลน์ (Ride Hailing) และการท่องเที่ยวออนไลน์
ดาวน์โหลดรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปี 2562 ฉบับเต็ม ได้ที่นี่
อินเทอร์เน็ตบนมือถือพลิกโฉมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมื่อ 10 ปีก่อน ประชากรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกือบ 4 ใน 5 ยังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ หรือสามารถเข้าถึงได้อย่างจำกัด แต่ทุกวันนี้ประชากรเหล่านี้กลายเป็นผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือมากที่สุดในโลก โดยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งสิ้น 360 ล้านคน และ 90% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนั้นเข้าอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือเป็นหลัก สำหรับประเทศไทย มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 47 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 36 ล้านคนเมื่อปีพ.ศ. 2558
ผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อตอบโจทย์หลากหลายในชีวิตประจำวัน ทั้งในการติดต่อสื่อสารกับครอบครัว เพื่อน และเพื่อนร่วมงาน เพื่อความบันเทิง และเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพื่อใช้ในการทำงาน ตลอดจนซื้อสินค้า จองทริปท่องเที่ยว และสั่งอาหารออนไลน์มากขึ้นทุกวัน วันละหลายล้านครั้งทั่วทั้งภูมิภาค สิ่งที่เคยคิดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในอดีต ตอนนี้กลับกลายเป็นกิจวัตรประจำวันของคนทั่วไป
เศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตทะลุ 1 แสนล้านดอลลาร์
พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปส่งผลให้เศรษฐกิจดิจิทัลขยายตัวอย่างรวดเร็วจนมีมูลค่าแตะ 1 แสนล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2562 คิดเป็นอัตราการเติบโตมากกว่า 3 เท่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และบริการเรียกรถออนไลน์เติบโตเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในขณะที่ธุรกิจด้านสื่อออนไลน์ และธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์ยังคงเติบโตสม่ำเสมอ และมีแนวโน้มจะขยายตัวมากขึ้น คาดการณ์ว่ามูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเติบโตแตะ 3 แสนล้านดอลาร์ภายในปี พ.ศ. 2568
เร็วและแรงกว่า สองประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ติดสปีด
เศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศมาเลเซีย ไทย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์เติบโตถึง 20-30% ต่อปีโดยไม่มีทีท่าว่าจะชะลอตัวลง ถือเป็นการขยายตัวที่โดดเด่นเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น แต่ยังตามหลังอีกสองประเทศคืออินโดนีเซียและเวียดนาม ที่เติบโตแซงหน้ากลุ่มประเทศทั้งสี่ด้วยอัตราการเติบโตเกิน 40% ต่อปี
สำหรับประเทศไทย เศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตขึ้น 29% ต่อปีโดยมีมูลค่าถึง 1.6 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ โดยธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์ของไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆของภูมิภาค ขณะที่ธุรกิจสื่อออนไลน์ขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่อัตรา 39% ต่อปี ซึ่งสะท้อนถึงการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อตอบโจทย์หลากหลายในชีวิตประจำวันของคนไทยที่มากขึ้นทุกวัน
เวลาเป็นเงินเป็นทอง แข่งขันเดือดแย่งเวลาผู้ใช้งาน
บริษัทต่างๆ เริ่มเปลี่ยนโฟกัสจากการหาลูกค้าใหม่มาเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมจากฐานลูกค้าเดิมมากขึ้น ด้วยการเน้นการจูงใจให้ผู้ใช้งานใช้เวลาอยู่บนแพลตฟอร์มนานขึ้นโดยเชื่อว่าการซื้อสินค้า และบริการจะตามมา การแข่งกันเพื่อเวลาของผู้ใช้งาน ทำให้บริษัทต่างๆเริ่มขยายกิจการข้ามกลุ่มธุรกิจ มีการเปิดบริการใหม่ๆ การสร้างเกมส์มาให้ผู้ใช้งานเข้าร่วมเพื่อแจกโปรโมชั่น และสร้างคอนเทนต์ที่โดนใจมากขึ้น พฤติกรรมเหล่านี้ของธุรกิจทำให้การแข่งขันในภูมิภาคนี้ดุเดือดกว่าที่ผ่านมา ทำให้ผู้ใช้มีตัวเลือกมากขึ้นในราคาที่ถูกลง
โอกาสในการเติบโตนอกเมืองใหญ่
การเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัลยังกระจุกเฉพาะบางพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเห็นได้ว่าผู้ที่อาศัยในเมืองใหญ่ซื้อสินค้าและบริการออนไลน์มากกว่าผู้ที่อาศัยในเขตอื่นๆถึง 6 เท่า ทำให้เมืองใหญ่ 7 เมืองที่มีประชากรคิดเป็นสัดส่วนเพียง 15% ของทั้งภูมิภาคกลับมีสัดส่วนการใช้จ่ายเกิน 50% ของเศรษฐกิจดิจิทัล อย่างไรก็ตามเขตเศรษฐกิจนอกเมืองใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีโอกาสเติบโตได้รวดเร็วกว่าเขตเศรษฐกิจในเมืองถึง 2 เท่า ทำให้ประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีส่วนร่วมในเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเท่าเทียมกันได้ในอนาคต
บริการทางการเงินดิจิทัลมาถึงจุดเปลี่ยน
การใช้บริการชำระเงินดิจิทัลมาถึงจุดเปลี่ยน เราคาดการณ์ว่ายอดการจ่ายเงินดิจิทัลจะสูงถึง 1 หมื่นล้านดอลล่าร์ในปี พ.ศ. 2568 คิดเป็น 1 ใน 2 ของยอดการจ่ายในภูมิภาคนี้ ในขณะที่การใช้บริการชำระเงินดิจิทัลจะเป็นที่นิยมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในภูมิภาค การบริการทางการเงินดิจิทัลในรูปแบบอื่นๆยังไม่จัดว่าได้รับความนิยมเท่าไรนัก แต่กำลังเติบโตตามมา แผนธุรกิจการจ่ายเงินที่ถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคที่ยังเข้าไม่ถึงสถาบันทางการเงินสามารถรับบริการทางการเงินได้ ผู้เล่นทั้งรายใหม่และรายเดิมลงสนามแข่งเพื่อช่วงชิงโอกาสมหาศาลในครั้งนี้อย่างคึกคัก แต่สิ่งที่สำคัญในการผลักดันธุรกิจบริการทางการเงินดิจิทัลในอนาคตคือ กฎระเบียบข้อบังคับที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของธุรกิจนี้
เม็ดเงินลงทุนไหลเข้าต่อเนื่องท่ามกลางสถานการณ์ผันผวนทั่วโลก
เม็ดเงินลงทุนกว่า 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์ยังคงไหลเข้าสู่ภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่องในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่เป็นเม็ดเงินเพื่ออัดฉีดธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นในธุรกิจบริการเรียกรถออนไลน์ อย่างไรก็ตามการลงทุนในสตาร์ทอัพเกือบ 3,000 รายในภูมิภาคนี้ยังจัดว่ามีมูลค่ามหาศาล “สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นที่กำลังมาแรง” มีจำนวนเพิ่มขึ้น และกำลังมองหาเงินลงทุนในช่วงสุดท้ายเพื่อขยายธุรกิจให้เติบโต นักลงทุนทั้งในภูมิภาค และทั่วโลกต่างเร่งคว้าโอกาสนี้โดยพร้อมให้การสนับสนุนบริษัทต่างๆมากขึ้นและในระยะยาวมากขึ้น
เปิดทางสดใส ขจัดอุปสรรคด้านระบบ
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเดินหน้าขจัดอุปสรรคหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ประชากรส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้สามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตได้ในราคาที่ถูกลง และวางใจที่จะใช้บริการทางการเงินดิจิทัลมากขึ้น ในส่วนของระบบโลจิสติกส์ที่เคยเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับธุรกิจออนไลน์ ทุกวันนี้กลับพลิกเป็นโอกาสทางธุรกิจให้กับทั้งสตาร์ทอัพ และผู้เล่นรายเดิมในตลาด ระบบการชำระเงินดิจิทัลก็เติบโตรุดหน้าทั้งในช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ท่ามกลางการพัฒนาหลากหลายด้าน อย่างไรก็ตาม ปัญหาบุคลากรยังคงเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ประเทศในภูมิภาคนี้ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วนแม้บริษัทในภาคเอกชนพยายาม “ปิดช่องว่าง”